ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)

Neric-Club (ม.ป.ป.).

             นักคิดกลุ่มมนุษยนิยมให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์และมองมนุษย์ว่ามีคุณค่า มีความดีงาม มีความสามารถ มีความต้องการ และมีแรงจูงใจภายในที่จะพัฒนาศักยภาพของตน หากบุคคลมีอิสระภาพและเสรีภาพ มนุษย์จะพยายามพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทฤษฏีและแนวคิดที่สำคัญๆ ในกลุ่มนี้มี 2 ทฤษฏีและ 5 แนวคิด คือ
           - ทฤษฎีการเรียนรู้ของมาสโลว์ แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้ คือ มนุษย์ทุกคนมีความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติเป็นลำดับขั้น และต้องการที่จะรู้จักตนเองและพัฒนาตนเอง หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการเข้าถึงความต้องการพื้นฐานของผู้เรียน และตอบสนองความต้องการพื้นฐานนั้นอย่างพอเพียง ให้อิสรภาพและเสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้ มีการจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิด ประสบการณ์ในการรู้จักตนเองตามสภาพความเป็นจริง
           - ทฤษฎีการเรียนรู้ของรอเจอร์ แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้ คือ มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองได้ดีหากอยู่ในสภาวะที่ผ่อนคลายและเป็นอิสระ การจัดบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการเรียนเรียนรู้และเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยครูเป็นผู้ชี้แนะและทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน และการเรียนรู้จะเน้นกระบวนการเป็นสำคัญ หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการเรียนรู้กระบวนการเป็นสำคัญ ควรจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้อบอุ่น ปลอดภัย ครูควรสอนแบบชี้แนะโดยให้ผู้เรียนเป็นผู้นำทางในการเรียนรู้ของตนและคอยช่วย เหลือผู้เรียนให้เรียนอย่างสะดวกจนบรรลุผล
           - แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของโคมส์ เชื่อ ว่าความรู้สึกของผู้เรียนมีความสำคัญต่อการเรียนรู้มาก เพราะความรู้สึกและเจตคติของผู้เรียนมีอิทธิพลต่อกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน หลักการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้จึงเน้นถึงความรู้สึกของผู้เรียนเป็น หลักการสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
          - แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของโนลส์ เชื่อว่าผู้เรียนจะเรียนรู้ได้มากหากมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ มีอิสระที่จะเรียนและได้รับการส่งเสริมในการพัฒนาด้วยตนเอง หลักการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้เน้นการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกสิ่งที่เรียนและวิธีเรียนด้วยตนเอง ลงมือกระทำและยอมรับผลของการตัดสินใจหรือการกระทำของตนเอง
          - แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของแฟร์ เชื่อว่าผู้เรียนต้องถูกปลดปล่อยจากการกดขี่ของครูที่สอนแบบเก่า ผู้เรียนมีศักยภาพและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง หลักการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้เน้นการให้อิสรภาพและเสรีภาพในการ เรียนรู้แก่ผู้เรียน
          - แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของอิลลิช เชื่อว่าสังคมแห่งการเรียนรู้เป็นสังคมที่ต้องล้มเลิกระบบโรงเรียน การศึกษาควรเป็นการศึกษาตลอดชีวิตแบบเป็นไปตามธรรมชาติ โดยให้โอกาสในการศึกษาเล่าเรียนแก่บุคคลอย่างเต็มที่ หลักการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้เน้นการจัดการศึกษาต่อเนื่องไปตลอด ชีวิตไปตามธรรมชาติ
          - แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนีล เชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้มีศักดิ์ศรี มีความดีโดยธรรมชาติ หากมนุษย์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น บริบูรณ์ด้วยความรัก มีอิสรภาพและเสรีภาพ มนุษย์จะพัฒนาไปในทางที่ดีทั้งต่อตนเองและสังคม หลักการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้ คือ การให้เสรีภาพอย่างสมบูรณ์แก่ผู้เรียนในการเรียน จัดให้เรียนเมื่อพร้อมจะเรียนจะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาไปตามธรรมชาติ

ทิศนา แขมมณี (2553).

           กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนมีความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติเป็นลำดับขั้น คือ ขั้นความต้องการทางร่างกาย (physical need) ขั้นความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (safety need) ขั้นความต้องการความรัก (love need) ขั้นความต้องการการยอมรับและการยกย่องจากสังคม (esteem need) และขั้นความต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ (self-actualization)หากความต้องการขั้นพื้นฐานได้รับการตอบสนองอย่างพอเพียงสำหรับตนในแต่ละขั้น มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนไปสู่ขั้นที่สูงขึ้น

สุรางค์  โค้วตระกูล  (2541).

            กล่าวว่า ผู้เรียนเป็นบุคคลที่มีความโน้มเอียงตามธรรมชาติที่จะพัฒนาตนเองทุกๆด้าน เพื่อจะรักษาหรือครองไว้ซึ่งความเป็นตัวของตัวเอง และพัฒนาให้ดีขึ้น ดังต่อไปนี้
1.       โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้
2.       การเรียนรู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เรียนรับรู้ว่าวิชาที่เรียนมีความหมาย และมีความสัมพันธ์ต่อจุดมุ่งหมายของชีวิตของผู้เรียน
3.       ผู้เรียนจะต่อต้านการเรียนรู้ที่ผู้เรียนรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือน ขู่เข็ญความรู้สึกเกี่ยวกับตนของผู้เรียน
4.       ในกรณีที่การขู่เข็ญจากสิ่งภายนอกลดลงผู้เรียนอาจจะค่อยๆยอมรับการเรียนรู้ที่ผู้เรียนรู้สึกว่าเป็นการกระทบกระเทือนต่อตนได้บ้าง
5.       ผู้เรียนอาจจะยอมรับรู้ประสบการณ์ใหม่ๆและเริ่มเรียนรู้ ถ้าหากการขู่เข็ญจากสิ่งภายนอกต่อตนต่ำ
6.       การเรียนรู้ที่สำคัญมักจะเกิดจากการลงมือกระทำของผู้เรียน
7.       ถ้านักเรียนมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบในกระบวนการเรียนรู้จะช่วยในการเรียนรู้ของนักเรียนมากขึ้น
8.       ถ้านักเรียนเป็นผู้ริเริ่มการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยทุ่มเททั้งด้านความรู้สึกและสติปัญญา จะเป็นผลให้นักเรียนอยากเรียนรู้มากขึ้นอยู่ตลอดเวลา
9.       การส่งเสริมให้ผู้เรียนประเมินผลสิ่งที่เรียนรู้ด้วยตนเอง จะช่วยให้ผู้เรียนมีความคิดอิสระเป็นตัวของตัวเอง มีความเชื่อมั่นในตนเองและมีความคิดสร้างสรรค์
10.    การเรียนรู้ที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดต่อการมีชีวิตอยู่ในสมัยปัจจุบัน คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้หรือเรียนรู้อย่างไร และผู้เรียนจะต้องกล้าที่จะเปิดโอกาสให้ตนเองมีประสบการณ์ใหม่ และพยายามที่จะรับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

สรุป

            ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม (Humanism) คือ เน้นการเข้าถึงความต้องการพื้นฐานของผู้เรียน และตอบสนองความต้องการพื้นฐานนั้นอย่างพอเพียง ให้อิสรภาพและเสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้ การจัดบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการเรียนเรียนรู้และเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยครูเป็นผู้ชี้แนะและทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน และควรจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้อบอุ่น ปลอดภัย หากผู้เรียนอยู่ในสภาวะที่ผ่อนคลายและเป็นอิสระ จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี

ที่มา

  • ทิศนา แขมมณี.(2553).ศาสตร์การสอน.กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • Neric-Club.(ม.ป.ป.).http://www.neric-club.com.[online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561
  • สุรางค์ โค้วตระกูล.(2541).จิตวิทยาการศึกษา.(185 -186).กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคนิคการเรียนการสอน

ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มผสมผสานของกานเย (Gagne's eclecticism)

การจัดการเรียนรู้แบบเทคนิค TGT