เทคนิคการเรียนการสอน


Moobo (2557)

เทคนิคการสอนแบบต่างๆสำหรับครูมืออาชีพ
1. การจัดการเรียนรู้แบบบรรยาย (Lecture Method) คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียนโดยการพูดบอกเล่า อธิบายเนื้อหาเรื่องราวที่ผู้สอนได้เตรียมการศึกษาค้นคว้ามาเป็นอย่างดี ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับฟัง อาจจะมีการจดบันทึกสาระสำคัญในขณะที่ฟังบรรยาย หรืออาจมีโอกาสซักถามแสดงความคิดเห็นได้บ้างถ้าผู้สอนเปิดโอกาส วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ฟังจำนวนมาก และผู้บรรยายซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ต้องการนำเสนอเนื้อหาสาระจำนวนมากในลักษณะคมชัดลึก โดยใช้เวลาไม่มากนัก จึงเป็นการเรียนรู้ที่ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
2. การจัดการเรียนรู้แบบอภิปราย (Discussion Method) คือ กระบวนการที่ผู้สอนมุ่งให้ผู้เรียนมีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือระดมความคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนหรือที่กลุ่มมีความสนใจร่วมกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาคำตอบ แนวทางหรือแก้ปัญหาร่วมกัน การจัดการเรียนรู้แบบนี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติงาน และชื่นชมผลงานร่วมกัน
3. การจัดการเรียนรู้โดยใช้การอภิปรายกลุ่มย่อย (Small Group Discussion) คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนจัดกลุ่มผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อยประมาณ 4-8 คน ให้ผู้เรียนในกลุ่มมีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ประสบการณ์ในประเด็นหรือปัญหาที่กำหนด และสรุปผลการอภิปรายออกมาเป็นข้อสรุปของกลุ่ม
4. การจัดการเรียนรู้แบบสาธิต (Demonstration Method) คือ กระบวนการที่ผู้สอนหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ โดยการแสดงหรือกระทำให้ดูเป็นตัวอย่างพร้อมๆ กับการบอก อธิบาย ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้จากการสังเกตกระบวนการขั้นตอนการสาธิตนั้นๆ แล้วให้ผู้เรียนซักถาม อภิปราย และสรุปการเรียนรู้ที่ได้จากการสาธิต การจัดการเรียนรู้แบบนี้จึงเหมาะสมสำหรับการสอนที่ต้องการให้ผู้เรียนเห็นขั้นตอนของการปฏิบัติ เช่น วิชาพลศึกษา นาฏศิลป์ ศิลปศึกษา เป็นต้น
5. การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมติ (Role Playing) คือ กระบวนการที่ผู้สอนกำหนดหัวข้อเรื่องปัญหาหรือสร้างสถานการณ์ขึ้นมาให้คล้ายกับสภาพความเป็นจริง แล้วให้ผู้เรียนสวมบทบาท หรือแสดงบทบาทนั้นตามความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ของผู้เรียนที่คิดว่าควรจะเป็น ภายหลังของการแสดงบทบาทสมมติจะต้องมีการอภิปรายเกี่ยวกับการแสดงออกทั้งด้านความรู้และพฤติกรรมของผู้แสดงเพื่อการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์
6. การจัดการเรียนรู้โดยใช้การแสดงละคร (Dramatization) คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์โดยการให้ผู้เรียนแสดงละคร ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามเนื้อหาและบทละครที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งผู้เรียนจะต้องแสดงบทบาทหรือสมมติว่าตนเองเป็นหรือแสร้งทำเป็นตัวเขาเองหรือบุคคลอื่นหรือตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง โดยจะต้องแสดงบทบาทการใช้ภาษา แสดงสีหน้า ท่าทางกับการเคลื่อนไหวประกอบการสนทนาตามบทละครที่แต่งไว้เรียบร้อยแล้ว และผู้แสดงจะไม่นำบุคลิกภาพและความรู้สึกนึกคิดของตนเองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งจะมีส่วนทำให้เกิดผลเสียหายต่อการแสดงบทบาทนั้นๆ วิธีการนี้จะทำให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ในการที่จะเข้าใจในความรู้สึก เหตุผล และพฤติกรรมของผู้อื่น และจะสามารถจดจำเรื่องราวนั้นได้นาน
7. การจัดการเรียนรู้แบบสถานการณ์จำลอง (Simulation) คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนให้ผู้เรียนเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่สร้างขึ้นมา ซึ่งสถานการณ์นั้นจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับสภาพความจริงมากที่สุด ทั้งสภาพแวดล้อมและปฏิสัมพันธ์ โดยมีการกำหนดบทบาท ข้อมูลและกติกาไว้เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิดแก้ปัญหาและตัดสินใจจากสภาพการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่ ซึ่งผู้เรียนจะต้องใช้ข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับประกอบกับวิจารณญาณของตนเองให้ปฏิบัติหน้าที่ตามสถานการณ์นั้นให้ดีที่สุด ซึ่งการเรียนรู้แบบสร้างสถานการณ์จำลองนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการถ่ายโยงการเรียนได้ดี และสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงได้
8. การจัดการเรียนรู้โดยใช้เกม (Game) คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนให้ผู้เรียนเล่นเกมที่มีกฎเกณฑ์กติกา เงื่อนไข หรือข้อตกลงร่วมกันที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทำให้เกิดความสนุกสนาน ร่าเริง เป็นการออกกำลังกาย เพื่อพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น โดยมีการนำเนื้อหา ข้อมูลของเกม พฤติกรรมการเล่น วิธีการเล่นและผลการเล่นเกมมาใช้ในการอภิปรายเพื่อสรุปผลการเรียนรู้
9. การจัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการ (Process) คือ กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียน "วิธีการเรียนรู้" อย่างเป็นขั้นตอน หรือเป็นกระบวนการ โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้คิด ผู้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ผู้สอนเป็นผู้กำกับควบคุมให้ผู้เรียนมีการปฏิบัติ ฝึกฝนจนเกิดทักษะ สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนได้ และรับรู้ขั้นตอนทั้งหมดจนสามารถนำไปใช้ได้อย่างอัตโนมัติ และนำไปใช้ได้จริงในสถานการณ์ต่างๆ
10. การจัดการเรียนรู้โดยกระบวนการกลุ่ม (Group Process) คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับความรู้จากการลงมือร่วมกันปฏิบัติเป็นกลุ่ม กลุ่มจะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของสมาชิกแต่ละคน และสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มก็มีอิทธิพลและปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน
11. การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค (Team Games Tournament) คือ การเรียนรู้แบบร่วมมืออีกรูปแบบหนึ่งคล้ายกันกับเทคนิค STAD ที่แบ่งผู้เรียนที่มีความสามารถแตกต่างกันออกเป็นกลุ่มเพื่อทำงานร่วมกัน กลุ่มละประมาณ 4-5 คน โดยกำหนดให้สมาชิกของกลุ่มได้แข่งขันกันในเกมการเรียนที่ผู้สอนจัดเตรียมไว้แล้ว ทำการทดสอบความรู้โดยการใช้เกมการแข่งขัน คะแนนที่ได้จากการแข่งขันของสมาชิกแต่ละคนในลักษณะการแข่งขันตัวต่อตัวกับทีมอื่น นำเอามาบวกเป็นคะแนนรวมของทีมผู้สอนจะต้องใช้เทคนิคการเสริมแรง เช่น ให้รางวัล คำชมเชย เป็นต้น ดังนั้นสมาชิกกลุ่มจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อความสำเร็จของกลุ่ม
12. การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคจิกซอว์ (Jigsaw) คือ การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้แนวคิดการต่อภาพ โดยแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่ม ทุกกลุ่มจะได้รับมอบหมายให้ทำกิจกรรมเดียวกัน ผู้สอนจะแบ่งเนื้อหาของเรื่องที่จะให้เรียนรู้ออกเป็นหัวข้อย่อยเท่ากับจำนวนสมาชิกแต่ละกลุ่ม และมอบหมายให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มศึกษาค้นคว้าคนละหัวข้อ ซึ่งผู้เรียนแต่ละคนจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องที่ตนได้รับมอบหมายให้ศึกษาจากกลุ่ม สมาชิกต่างกลุ่มที่ได้รับมอบหมายในหัวข้อเดียวกันก็จะทำการศึกษาค้นคว้าร่วมกัน จากนั้นผู้เรียนแต่ละคนจะกลับเข้ากลุ่มเดิมของตนเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญอธิบายความรู้ เนื้อหาสาระที่ตนศึกษาให้เพื่อนร่วมกลุ่มฟัง เพื่อให้เพื่อนสมาชิกทั้งกลุ่มได้รู้เนื้อหาสาระครบทุกหัวข้อย่อยและเกิดการเรียนรู้เนื้อหาสาระทั้งเรื่อง
13. การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ (Integration) คือ การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงศาสตร์หรือเนื้อหาสาขาวิชาต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความรู้ที่มีความหมาย มีความหลากหลายและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน
14. การจัดการเรียนรู้แบบ Storyline (Storyline) คือ การเรียนรู้แบบบูรณาการที่มีการนำเอาสาระการเรียนรู้จากหลายกลุ่มสาระมาเชื่อมโยงกัน เพื่อจัดการเรียนรู้ภายใต้หัวข้อเรื่อง (Theme) เดียวกัน โดยผูกเรื่องเป็นตอนๆ (Episode) เรื่องแต่ละตอนจะต่อเนื่องและมีลำดับเหตุการณ์ (Sequence) หรือเรียกว่า เส้นทางการเดินเรื่อง (Topic line) และใช้คำถามหลัก (Key questions) เป็นตัวนำไปสู่การให้ผู้เรียนทำกิจกรรม (Activity) อย่างหลากหลาย ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นจะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามสภาพจริง ได้ลงมือปฏิบัติจริง เน้นทักษะการคิด การวิเคราะห์ การตัดสินใจ กระบวนการกลุ่มตลอดจนการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ดังนั้นการจัดการเรียนรู้แบบ Storyline จึงเป็นการบูรณาการเนื้อหาสาระและทักษะกระบวนการต่างๆ เข้าด้วยกัน
15. การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) คือ กระบวนการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนได้ร่วมมือและช่วยเหลือกันในการเรียนรู้ โดยแบ่งกลุ่มผู้เรียนที่มีความสามารถต่างกันออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นลักษณะการรวมกลุ่มอย่างมีโครงสร้างที่ชัดเจน มีการทำงานร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนตนและส่วนรวมเพื่อให้ตนเองและสมาชิกทุกคนในกลุ่มประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ธนพร (2554)

ทักษะและเทคนิคการสอน ความหมายคือความสามารถในการสอนอย่างมีประสิทธิภาพโดยสามารถถ่ายทอดความรู้ต่างๆให้กับผู้เรียนได้ดี
เทคนิคการสอน หมายถึง กลวิธีต่างๆที่ใช้เสริมกระบวนการสอนการสอนการแบ่งทักษะการสอนมี 18ทักษะด้วยกัน จะแบ่งเหลือ 9 ทักษะ
เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน
1.     ใช้อุปกรณ์การสอนเช่น รูปภาพ
2.     ให้นักเรียนลองทำกิจกรรมบางอย่างที่สัมพันธ์กับบทเรียน
3.     ใช้เรื่องเล่า นิทานหรือเหตุการณ์ต่างๆ
4.     ตั้งปัญหา ทายปัญหาเพื่อเร้าความสนใจ
5.     สนทนาซักถามถึงเรื่องต่างๆ
6.     ทบทวนบทเรียนเดิมที่สัมพันธ์กับบทเรียนใหม่
7.     แสดงละคร
8.     ร้องเพลงซึ่งเป็นเพลงที่เกี่ยวข้อง
9.     สาธิต ซึ่งอาจจะสาธิตโดยครู
10.ทำสิ่งที่แปลกไปจากเดิม
11.ให้นักเรียนฟังเสียงต่างๆ
เทคนิคการใช้วาจา กิริยา ท่าทางประกอบการสอนและบุคลิกภาพ
1.     การเคลื่อนไหวแหละการเปลี่ยนอิริยาบถ ครูควรเดินด้วยท่าทางที่เหมาะสมสง่างามและดูเป็นธรรมชาติ
2.     การใช้มือและแขน ใช้มือประกอบท่าทางในการสอน ซึ่งจะเป็นการดึงดูดความสนใจของนักเรียนเพราะนักเรียนสรใจดูสิ่งที่เคลื่อนไหวมากกว่าสิ่งที่นิ่ง
3.     การแสดงออกด้วยสีหน้า สายตา เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้สื่อความหมายกับผู้เรียน ผู้เรียนจะเข้าใจความรู้สึก สีหน้าของครูต้องคล้อยตามสัมพันธ์กับความรู้สึกดังกล่าวด้วย
4.     การทรงตัวและการวางท่าทาง ควรวางท่าทางให้เหมาะสมไม่เครียดเกินไป
5.     การใช้น้ำเสียง ต้องใช้ภาษา “ร” ”ล”ต้องชัดเจน ควรพูดด้วยน้ำเสียงที่น่าฟังห้ามเสียงดังหรือตวาด
6.     การแต่งกาย การแต่งกายนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญกับครูในการเสริมบุคลิกภาพดึงดูดความสนใจ ผู้สอนต้องแต่งกายให้เรียบร้อยตามสมัยนิยม โดยคำนึงถึงวัย รูปร่างและความเหมาะสม
เทคนิคการอธิบาย
1.     เวลาที่ใช้ในการอธิบายไม่นานเกินควร
2.     ภาษาที่ใช้ง่ายแก่การเข้าใจ
3.     สื่อการสอน หรือตัวอย่างน่าสนใจ
4.     ครอบคลุมใจความสำคัญได้ครบถ้วน
5.     การอธิบายเริ่มจากเรื่องที่เข้าใจง่ายไปหาเรื่องยาก
6.     ท่าทางในการอธิบายน่าสนใจ
7.     ใช้แนวความคิด
8.     มีการสรุปผลการอธิบายด้วย
เทคนิคการเร้าความสนใจ
1.     การใช้สีหน้า ท่าทางประกอบการสอน เช่น การมอง ยิ้ม ส่ายหน้า โบกมือ ผงกศีรษะ ชี้ กวักมือ เป็นต้น
2.     การใช้ถ้อยคำและน้ำเสียง ถ้อยคำที่ครูใช้และน้ำเสียงเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจเรียน ควรมีการเน้นหนักเบาในคำพูด
3.     การเคลื่อนไหวของครู ครูควรเปลี่ยนจุดนั่งและจุดยืนของตน
4.     การเน้นจุดสำคัญของเรื่องและการเว้นระยะการพูดหรืออธิบายครูควรฝึกเน้นคำพูด สำเนียง จังหวะ
เทคนิคการใช้คำถาม
1.     ถามด้วยความมั่นใจ
2.     ถามอย่างกลมกลืน
3.     ถามโดยใช้ภาษาที่พูดเข้าใจง่าย
4.     ให้นักเรียนมีโอกาสตอบได้หลายคน
5.     การเลือกถาม บางครั้งครูควรเลือกถามเพื่อจุดประสงค์ของครู
6.     การเสริมกำลังใจ หรือให้ผลย้อนกลับ
7.     ใช้คำถามหลายๆประเภทในการสอนแต่ละครั้ง
8.     การใช้กิรกยา ท่าทาง เสียงในการประกอบการถาม
9.     การใช้คำถามรุกหมายถึง การใช้คำถามต่อเนื่อง
เทคนิคการใช้อุปกรณ์การสอนอย่างมีประสิทธิภาพ
1.     ใช้อย่างคล่องแคล่ว
2.     แสดงอุปกรณ์ให้เห็นได้ชัดทั่วห้อง
3.     ควรหาที่ตั้ง วาง แขวนอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่
4.     ควรใช้ไม้ยาว ชี้แผนภูมิ แผนที่ กระดารดำ
5.     ควรนำอุปกรณ์มาวางเรียงกันไว้เป็นลำดับ
6.     ควรใช้เครื่องมือประกอบการใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสม
7.     ควรมีการเตรียมผู้เรียนล่วงหน้าก่อนการใช้อุปกรณ์
8.     พยายามเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ร่วมกิจกรรม
9.     ควรใช้อุปกรณ์ให้คุ้มค่ากับที่ได้เตรียมมา
10.ควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์บางชนิด
ทักษะและเทคนิคการใช้กระดานดำ
1.     ครูควรทำความสะอาดกระดานดำทุกครั้งที่สอน
2.     ในการเขียนกระดานดำควรแบ่งครึ่ง แบ่งเป็น 3 ส่วน
3.     ในการเขียนกระดานดำควรเขียนจากซ้ายมือไปขวามือ
4.     หัวข้อเรื่องควรเขียนไว้ตรงกลางกระดานดำ
5.     ขณะเขียนต้องยืนห่างกระดานดำพอประมาณ แขนเหยียดตรง ควรทำมุมประมาณ 45 องศา
6.     ในการเขียนตัวหนังสือ ต้องให้เป็นเป็นเส้นตรงไม่คดเคี้ยว
7.     ถ้าต้องการอธิบายข้อความบนกระดานไม่ควรยืนบัง
8.     ถ้ามีข้อความสำคัญควรใช้ชอล์กขีดเส้นใต้
9.     ควรใช้ชอล์กสีเมื่อต้องการเน้นข้อความ
10.เขียนคำตอบลงนกระดานเพื่อเป็นการเสริมกำลังใจ
11.เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเขียนกระดานดำ
12.ถ้าจะขึ้นเรื่องใหม่ควรลบของเก่าให้หมดเสียก่อน
13.การลบกระดานต้องลบจากบนลงล่าง
เทคนิคการเสริมกำลังใจ
1.     เสริมกำลังใจในจังหวะที่เหมาะสม
2.     เสริมกำลังใจย้อนหลัง
3.     ไม่พูดเกินความจริง
4.     ไม่ใช้คำพูดที่จำกัดในวงแคบใช้วิธีเสริมกำลังใจหลายวิธีห้ามใช้ซ้ำๆ
5.     ไม่ควรเสริมกำลังใจบางประเภทบ่อยเกินไป
6.     ใช้วิธีเสริมกำลังใจต่างๆกันและในโอกาสต่างๆกัน
7.     การเสริมกำลังใจควรเป็นไปในทางบวกหรือลบ
8.     เสริมกำลังใจโดยใช้คำพูดให้เหมาะสมกับวัย
9.     การเสริมกำลังใจไม่ควรมาจากครูอย่างเดียวควรมาจากสิ่งแวดล้อมเช่นปรบมือ
10.หาวิธีเสริมกำลังใจให้เหมาะสมกับลักษณะของผู้เรียน
เทคนิคการสรุปบทเรียน
1.     สรุปโดยการอธิบายสั้นๆ ชัดเจน ทบทวนสาระสำคัญที่เรียนมา
2.     สรุปโดยใช้อุปกรณ์ หรือรูปภาพประกอบ
3.     สรุปโดยการสนทนาซักถาม
4.     สรุปโดยการสร้างสถานการณ์
5.     สรุปโดยนิทาน หรือการยกสุภาษิต
6.     สรุปโดยการปฏิบัติ เช่น การให้สังเกต การสาธิต เป็นต้น

วราภรณ์ ศรีวิโรจน์ (ม.ป.ป.)

ได้รวบรวมเทคนิคและวิธีการจัดการเรียนรู้ไว้ 14 วิธี ดังนี้
          1) การจัดการเรียนรู้แบบศูนย์กลางเรียน (Learning Center)
          2) การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ (Integrating Method)
          3) การจัดการเรียนรู้แบบถามตอบ (Ask and Question Model)
          4) การจัดการเรียนรู้แบบการเรียนรู้เป็นคู่ (Learning Cell)
          5) การจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมในแหล่งชุมชน (The use of Community Activities)
          6) การจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงาน (Committee Work Method)
          7) การจัดการเรียนรู้แบบอภิปราย (Discussion Group)
          8) การจัดการเรียนรู้แบบพัฒนาความสามารถเฉพาะ (Talents Unlimited)
          9) การจัดการเรียนรู้แบบหน่วย (Unit Teaching Method)
          10) การจัดการเรียนรู้แบบบทบาทสมมติ (Role Playing)
          11) การจัดการเรียนรู้โดยเรียนจากของเล่น (Learning from Toy)
          12) การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย (Inductive Method)
          13) การจัดการเรียนรู้แบบนิรนัย (Deductive Method)
          14) กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ (Hand-on Activity)

สรุป

จากการรวบรวมเทคนิคการสอน และรูปแบบการจัดการเรียนการสอนสรุปได้ว่า ในการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้หลากหลายวิธีและสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับผู้เรียน กับแต่ละสถานการณ์ และแต่ละสิ่งแวดล้อม การสอนแบบบรรยายอย่างเดียวไม่เพียงพอ ครูผู้สอนต้องใช้วิธีสอน เทคนิคการสอนที่หลากหลายเข้ามาใช้บูรณาการในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ สามารถเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหาด้วยตนเองมากขึ้นกว่าการเรียนการสอนแบบทั่วไป

ที่มา

·      Moobo.(2557).https://blog.eduzones.com/moobo/132517.[online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561
·      ธนพร.(2554).https://thanaphon160333.wordpress.com.[online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561
·      วราภรณ์ ศรีวิโรจน์.(ม.ป.ป.).http://edu.pbru.ac.th/e-media/08. [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561.



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มผสมผสานของกานเย (Gagne's eclecticism)

การจัดการเรียนรู้แบบเทคนิค TGT